กลองแขก
กลองแขก เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรงกระบอก ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ. หน้าใหญ่ กว้างประมาณ 20 cm เรียกว่า หน้ารุ่ย หรือ "หน้ามัด" ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ 15 cm เรียกว่า หน้าต่านหรือ"หน้าตาด" ตัวกลองหรือหุ่นกลองสามารถทำขึ้นได้จากไม้หลายชนิดแต่โดยมากจะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นหุ่นกลอง เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะริด ไม้พยุง กระพี้เขาควาย ขนุน สะเดา มะค่า มะพร้าว ตาล ก้ามปู เป็นต้น ขอบกลองทำมาจากหวายผ่าซีกโยงเรียงเป็นขอบกลองแล้วม้วนด้วยหนังจะได้ขอบกลองพร้อมกับหน้ากลอง และถูกขึงให้ตึงด้วยหนังเส้นเล็ก เรียกว่าหนังเรียดเพื่อใช้ในการเร่งเสียงให้หน้ากลองแต่ละหน้าได้เสียงที่เหมาะสมตามความพอใจ กลองแขกสำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียก ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียก ตัวเมีย ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก
ลักษณะเสียง
- กลองแขกตัวผู้ มีเสียงที่สูงกว่ากลองแขกตัวเมียโดย เสียง "ติง" ในหน้ามัด และเสียง โจ๊ะ ในหน้าตาด
- กลองแขกตัวเมีย มีเสียงที่ต่ำกว่ากลองแขกตัวผู้ โดย เสียง ทั่ม ในหน้ามัด และเสียง จ๊ะ ในหน้าตาด
วิธีการบรรเลง
การบรรเลงนั้นจะใช้มือตีไปทั้งสองหน้าตามแต่จังหวะหรือหน้าทับที่กำนดไว้ ในหน้าเล็กหรือหน้าตาด จะใช้นิ้วชี้หรือนิ้วนางในการตี เพื่อให้เกิดเสียงที่เล็กแหลม ในหน้ามัดหรือหน้าใหญ่ จะใช้ฝ่ามือตีลงไปเพื่อให้เกิดเสียงที่หนักและแน่น ซึ่งมีวิธีการบรรเลงที่ละเอียดอ่อนลงไปอีกตามแต่กลวิธีที่ครูอาจารย์แต่ละท่านจะชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น