วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ไม้ดอกไม้ประดับ

ไม้ดอกไม้ประดับ


ความหมายของไม้ดอกไม้ประดับ

     ไม้ดอก หมายถึง พันธุ์ไม้ทุกชนิดที่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากความสวยงามของดอก มีดอกสวยงาม ดอกดก บานทน นิยมปลูกไว้ให้บานสวยงามอยู่กับต้นหรือตัดออกไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่าย ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มได้ 2 กลุ่ม คือ ไม้ดอกประดับ และไม้ตัดดอก
     ไม้ดอกประดับ คือ พันธุ์ไม้ดอกทุกชนิดที่ปลูกไว้เพื่อประดับบ้านเรือนอาคารสถานที่โดยให้ดอกบานติดอยู่กับต้น เพื่อเพิ่มบรรยากาศให้สถานที่นั้นน่าอยู่อาศัยหรือน่าทำงาน ได้แก่ เข็มญี่ปุ่น พิทูเนีย แพงพวย พุทธรักษา บานชื่น ปทุมมา บัวสาย ฯลฯ ซึ่งหลายชนิดสามารถนำไปปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้

การจำแนกประเภทและแบ่งพันธุ์ไม้

       มีหลักพิจารณาและจำแนกต่างกัน แล้วแต่ความมุ่งหมายและความประสงค์ ซึ่งอาจแบ่งจำพวกพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับเป็น 3 พวกใหญ่ ๆ คือ
  1. การแบ่งพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับตามความมุ่งหมายที่ใช้ หมายถึง การแบ่งพันธุ์ไม้ตามความต้องการและมุ่งหมายที่จะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ ดังนี้
     1) ไม้ตัดดอก (Cut flower plant)  หมายถึง ไม้ดอกที่ปลูก ณ สถานที่ที่มีภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม เช่น สายลม แสงแดด อุณหภูมิ ดิน น้ำ ความชื้นสัมพัทธ์ การคมนาคม และระยะทางที่เหมาะสม เพื่อตัดเฉพาะส่วนดอกหรือช่อดอก ไปใช้ประโยชน์ หรือจำหน่าย เช่น แกลดิโอลัส เบญจมาศ เยอร์บีรา หน้าวัว กุหลาบ ดาวเรือง คาร์เนชัน และบัวหลวง 
     2) ไม้ดอกกระถาง (Flowering pot plant)   หมายถึง ไม้ดอกที่ปลูกเลี้ยงในกระถางตั้งแต่เริ่มเพาะเมล็ดหรือย้ายต้นกล้า โดยการเปลี่ยนกระถางให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นลำดับให้เหมาะสมกับความสูงและการเจริญเติบโตของต้น เมื่อออกดอก จะนำไปใช้ประโยชน์ในการประดับทั้งต้นทั้งดอก พร้อมทั้งกระถาง ทำให้อายุการใช้งานทนนานกว่าไม้ตัดดอก เช่น บีโกเนีย แพนซี แอฟริกันไวโอเลต กล็อกซิเนีย อิมเพเชียน พิทูเนีย  
     3) ไม้ดอกประดับแปลง (Bedding plant)  หมายถึง ไม้ดอกที่ปลูกลงแปลง ณ บริเวณที่ต้องการปลูกตกแต่ง เพื่อประดับบ้านเรือน อาคารสถานที่ ตลอดจนสวนสาธารณะ โดยไม่ตัดดอกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งไปใช้ประโยชน์ แต่ปล่อยให้ออกดอกบานสะพรั่งสวยงาม ติดอยู่กับต้นภายในแปลงปลูก เพื่อประโยชน์ในการประดับ จนกว่าจะร่วงโรยไป
  2.  การแบ่งพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับตามลักษณะนิสัยของพันธุ์ไม้ เช่น การแบ่งตามถิ่นกำเนิด แบ่งตามอายุความเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ ตามลักษณะเนื้อไม้ ตามสิ่งแวดล้อม และตามลักษณะของลำต้น
  3.  การแบ่งพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับตามหลักพฤกษศาสตร์ มีความมุ่งหมายเพื่อจำแนกพันธุ์ไม้ทั่ว ๆ ไปให้แน่ชัดในรูปร่าง ลักษณะนิสัยการดำรงชีพ และการสืบพันธุ์ ของพันธุ์ไม้ให้อยู่เป็นกลุ่มที่แน่นอน ไม่ปะปนกัน

ที่มา : http://home.kapook.com/view54749.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น