ปี่นอก
ปี่นอกเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าที่กำเนิดเสียงจากการสั่นสะเทือนของลิ้นปี่ และเปลี่ยนระดับเสียงไปตามตำแหน่งนิ้วที่ปิดรูซึ่งเรียงอยู่บนเลาปี่
ปี่นอกมีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วนคือ
1.เลาปี่ ทำจากไม้เนื้อแข็ง ชนิดต่างๆ เช่น พยุง ชิงชัน มะเกลือ หรือแม้แต่งาช้าง และหินอ่อน โดยกลึงขึ้นรูปให้มีลักษณะบานที่หัวท้าย ตอนกลางป่อง ตรงกลางกลวงตลอด ด้านหัวท้ายมีแป้นไม้หรือกระดูกสัตว์ งาช้าง กลึงเป็นแผ่นบางขนาดเท่าความกว้างของเลาปี่ ติดประกบ เรียกว่า ทวนบน และทวนล่างในอดีตนั้นทวนล่างสามารถถอดออกได้ เพื่อปรับเสียงปี่ให้สูงขึ้น ตัวเลาปี่เจารู 6 รู เป็นตำแหน่งของนิ้ว โดยตอนบนเจาะเรียง 4 รู แล้วเว้นช่วงไว้ ตอนล่าง เจาะอีก 2 รูซึ่งแตกต่างกับเครื่องเป่าประเภทขลุ่ย
รอบเลาปี่กลึงเป็นเกลียวควั่นเพื่อความกระชับในการจับป้องกันการไหลลื่นเมื่อถือบรรเลง เลาปี่นอกนั้นมีความยาวประมาณ 31 ซม. กว้าง ประมาณ 3.5 ซม.
2.ลิ้นปี่ ทำจากใบตาลแห้ง ตัดบางซ้อนกัน 4 ชิ้น แล้วผูกติดกับแท่งโลหะเล็กๆ (เรียกว่าการผูกแบบตะกรุดเบ็ด)ซึ่งทำจาก นาค ทองเหลือง หรือเงิน เรียกว่า กำพวด แล้วจึงนำปลายด้านหนึ่งของกำพวดเสียบเข้ากับรูบริเวณทวนบนของเลาปี่
แม้ปี่จะมีรูนิ้วเพียง 6 รู แต่ก็สามารถประดิษฐ์เสียงได้มากกว่า 20 เสียง ทั้งยังสามารถทำเสียงเลียนเสียงร้องของนักร้องได้อย่างสนิทสนม
ปี่มีบทบาทสำคัญมากในวงปี่พาทย์ไทย บรรเลงประกอบการแสดงโขน ละครนอก ซึ่งผู้บรรเลงเป็นชาย ภายหลังเมื่อมีการปรับปรุงการแสดงการแสดงละครที่ผู้แสดงเป็นผู้หญิง จึงปรับระดับเสียงของปี่ให้นุ่มนวลขึ้น จึงเรียกปี่ชนิดที่เกิดขึ้นใหม่ว่า ปี่ใน ส่วนปี่ที่ใช้อยู่เดิมจึงเรียกว่าปี่นอก ส่วนปี่กลางนั้นใช้บรรเลงประกอบการแสดงหนังใหญ่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น